ซินเดอเรลล่า (อังกฤษ: Cinderella; ฝรั่งเศส: Cendrillon) เป็นเทพนิยายปรัมปราที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั่วทั้งโลก มีการดัดแปลงเป็นรูปแบบต่าง ๆ มากมายกว่าพันครั้ง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กกำพร้าผู้หนึ่งที่อยู่ในอุปถัมภ์ของแม่เลี้ยงกับพี่สาวบุญธรรมสองคน แต่ถูกทารุณและใช้งานเยี่ยงทาส ต่อภายหลังจึงได้พบรักกับเจ้าเมืองหรือเจ้าชายผู้สูงศักดิ์ ตำนานซินเดอเรลล่ามีปรากฏในเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลกโดยมีชื่อของตัวเอกแตกต่างกันออกไป ทว่าฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นของนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์ล แปโร ในปี ค.ศ. 1697 ซึ่งอิงมาจากวรรณกรรมของ จิอัมบัตติสตา เบซิล เรื่อง La Gatta Cenerentola ในปี ค.ศ. 1634 ในเรื่องนี้ตัวเอกมีชื่อว่า เอลลา (Ella) แต่แม่เลี้ยงกับพี่สาวใจร้ายของเธอพากันเรียกเธอว่า ซินเดอเรลล่า (Cinderella) อันหมายถึง “เอลลาผู้มอมแมม” ซึ่งกลายเป็นชื่อเรียกเทพนิยายในโครงเรื่องนี้โดยทั่วไป
ซินเดอเรลล่า ได้รับการโหวตจากเด็ก ๆ กว่า 1,200 คนจากการสำรวจโดย cinema chain UCI เป็นเทพนิยายยอดนิยมอันดับหนึ่งในดวงใจ เมื่อปี ค.ศ. 2004 ผลสำรวจจากกูเกิล เทรนดส์ เมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็พบว่า ซินเดอเรลล่า เป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต
ประวัติ ซินเดอเรลล่า
ซินเดอเรลล่า โครงเรื่องของซินเดอเรลล่าน่าจะมีกำเนิดมาแต่ยุคสมัยคลาสสิก นักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ สตราโบ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ จีโอกราฟิกา เล่ม 17 ตั้งแต่ราวหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาล ถึงเรื่องราวของเด็กสาวลูกครึ่งกรีก-อียิปต์ผู้หนึ่งชื่อ โรโดพิส (Rhodopis) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดของซินเดอเรลล่า โรโดพิส (ชื่อมีความหมายว่า “แก้มกุหลาบ”) ต้องอยู่ซักเสื้อผ้ามากมายขณะที่เหล่าเพื่อนหญิงรับใช้พากันไปเที่ยวงานเต้นรำเลือกคู่ของเจ้าชายซึ่งฟาโรห์อามาซิสทรงจัดขึ้น นกอินทรีย์นำรองเท้าของเธอที่ประดับกุหลาบไปทิ้งไว้ที่เบื้องบาทของฟาโรห์ในนครเมมฟิส พระองค์ตรัสให้สตรีในราชอาณาจักรทดลองสวมรองเท้านี้ทุกคนเพื่อหาผู้สวมได้พอเหมาะ โรโดพิสสวมได้พอดี ฟาโรห์ตกหลุมรักเธอและได้อภิเษกสมรสกับเธอ ต่อมาเนื้อเรื่องนี้ปรากฏอีกครั้งในงานเขียนของเคลาดิอุส ไอเลียนุส (Claudius Aelianus) แสดงให้เห็นว่าโครงเรื่องซินเดอเรลล่าเป็นที่นิยมมาตลอดยุคคลาสสิก บางทีจุดกำเนิดของตัวละครอาจสืบย้อนไปได้ถึงช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีสตรีในราชสำนักเธรซคนหนึ่งใช้ชื่อเดียวกันนี้ และเป็นผู้รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีกับ อีสป นักเล่านิทานยุคโบราณ
ซินเดอเรลล่าในวัฒนธรรมต่าง ๆ
โครงเรื่องซินเดอเรลล่าเรื่องหนึ่งคือ เย่เซี่ยน (Ye Xian) ซึ่งปรากฏในเรื่องเล่าเบ็ดเตล็ดจากโหย่วหยาง (Miscellaneous Morsels from Youyang) งานเขียนของ ต้วนเฉิงจื่อ บัณฑิตจีนยุคราชวงศ์ถัง ในราว ค.ศ. 860 ในเรื่องนี้ หญิงสาวผู้น่ารักและกรำงานหนักได้เป็นเพื่อนกับปลา ซึ่งต่อมาถูกแม่เลี้ยงของนางฆ่า เย่เซี่ยนเก็บกระดูกปลาไว้ และเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นเมื่อมันช่วยสร้างชุดที่สวยงามให้นางสวมไปงานเทศกาล ต่อมานางทำรองเท้าหลุดขณะรีบเร่งกลับ พระราชาจึงได้พบนางและตกหลุมรักนาง
ยังมีเทพนิยายอีกเรื่องหนึ่งคือ แอนน์ เดอ เฟอร์นันเดซ (Anne de Fernandez) นิทานของอินโด-มลายู ในยุคกลาง ตัวละครหลักคือแอนน์ ได้เป็นเพื่อนกับปลาพูดได้ ชื่อว่า โกลด์อายส์ (Gold Eyes) ซึ่งที่แท้เป็นแม่ของแอนน์ที่กลับชาติมาเกิด โกลด์อายส์ถูกแม่เลี้ยงของแอนน์ชื่อ ติตา วาเวย์ กับลูกสาวผู้อัปลักษณ์สองคนล่อหลอกและฆ่าตาย พวกเขากินโกลด์อายส์เป็นอาหารค่ำระหว่างที่ใช้ให้แอนน์ออกไปธุระด่วน แล้วเอากระดูกของโกลด์อายส์ให้แอนน์ดูเมื่อเธอกลับมา แม่เลี้ยงยังต้องการให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับเจ้าชายแห่งตาลัมบันผู้อ่อนโยนและมีรูปงาม แต่เจ้าชายกลับไปหลงรักแอนน์ เดอ เฟอร์นันเดซ เจ้าชายพบรองเท้าทองซึ่งมีขนาดเล็กมาก และทำให้พระองค์ได้พบกับแอนน์ แม้ว่าพี่สาวบุญธรรมของเธอพยายามจะใส่รองเท้านั้นสักเพียงใด
ที่ประเทศญี่ปุ่น มีนิยายเก่าแก่คล้ายกับซินเดอเรลล่าเรื่องหนึ่ง ชื่อ ชูโจ-ฮิเมะ (Chūjō-hime) นางเป็นบุตรีของขุนนางชื่อ ฟูจิวาระ โนะ โตโยนาริ ในเรื่องนางหนีภัยจากแม่เลี้ยงผู้ชั่วร้ายโดยไปออกบวช ได้รับความช่วยเหลือจากภิกษุณี
ประเทศเกาหลีก็มีตำนานปรัมปราที่โด่งดังเรื่อง คงจี (Kongji) ซึ่งถูกทารุณโดยแม่เลี้ยงกับพี่บุญธรรม นางไปร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่จวนผู้ว่า และได้พบกับบุตรชายของท่านผู้ว่า เรื่องราวดำเนินไปคล้ายคลึงกับซินเดอเรลล่าของทางยุโรป
สำหรับนิทานพื้นบ้านไทยก็มีเรื่อง ปลาบู่ทอง ตัวละครเอกชื่อ เอื้อย เป็นธิดาของคหบดีกับภริยาหลวง ซึ่งตกน้ำเสียชีวิตแล้วมาเกิดเป็นปลาบู่คอยดูแลบุตรสาว ภริยาน้อยของคหบดีหรือแม่เลี้ยงของเอื้อยมีบุตรสาวสองคนชื่อ อ้าย กับ อี่ ทั้งหมดใช้งานเอื้อยเยี่ยงทาส เมื่อเห็นเอื้อยพูดคุยกับปลาบู่ทองในสระ ก็จับปลาบู่มาฆ่าเสีย เกล็ดปลาบู่ฝังดินกลายเป็นต้นมะเขือ แม่เลี้ยงก็ทำลายต้นมะเขือ ผลมะเขือฝังดินเติบใหญ่กลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง ทำให้พระเจ้าพรหมทัตมาพบเพราะเสียงลมพัดใบโพธิ์ไพเราะ แล้วรับเอื้อยไปอยู่ในวัง
นิทานซินเดอเรลล่าของยุโรปที่เก่าแก่ที่สุดคือเรื่อง La Gatta Cenerentola หรือ “The Hearth Cat” ปรากฏในหนังสือเรื่อง “อิล เพนตาเมอโรน” (“Il Pentamerone”) ของนักสะสมเทพนิยายชาวอิตาลี จิอัมบัตติสตา เบซิล (Giambattista Basile) ในปี ค.ศ. 1634 ซินเดอเรลล่าชุดนี้เป็นโครงเรื่องพื้นฐานของซินเดอเรลล่าในยุคต่อ ๆ มาของ ชาร์ลส แปร์โรลต์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส รวมถึงพี่น้องตระกูลกริมม์ ชาวเยอรมัน
ซินเดอเรลล่า ของ ชาร์ลส แปร์โรลต์ ในปี ค.ศ. 1697 นับเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด เนื่องมาจากการเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในเทพนิยาย เช่น ผลฟักทอง นางฟ้าแม่ทูนหัว และรองเท้าแก้ว เชื่อว่าเขาเปลี่ยนคำจากตำนานเดิมว่า “vair” (ขนสัตว์) เป็น “verre” (แก้ว) ซึ่งทำให้พี่บุญธรรมของซินเดอเรลล่าไม่อาจสวมรองเท้าแก้วให้พอดีได้
นอกจากนี้ยังมีซินเดอเรลล่าของ เจค็อบกับวิลเฮล์ม กริมม์ (พี่น้องตระกูลกริมม์) ซึ่งประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็นับเป็นชุดที่มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เด็กสาวในเรื่องนี้ชื่อว่า แอนน์ เดล ทาโคล หรือ แอนน์แห่งทาโคลบัน ใช้ชื่อตำนานว่า Aschenputtel ผู้มาช่วยเด็กสาวไม่ใช่นางฟ้าแม่ทูนหัว แต่เป็นผลจากคำอธิษฐานต่อต้นไม้วิเศษซึ่งงอกงามขึ้นบนหลุมฝังศพของแม่ของเธอ ในเรื่องนี้ พี่เลี้ยงของแอนน์สามารถหลอกเจ้าชายได้โดยการตัดปลายเท้าของตนเพื่อให้สามารถสวมรองเท้าได้ แต่เจ้าชายก็ทราบเรื่องในภายหลัง เมื่อนกพิราบสองตัวจิกลูกตาของพวกนาง ทำให้กลายเป็นขอทานตาบอดไปตลอดชีวิต
ตำนานปรัมปราของชาวเคลติกในสก็อตแลนด์ มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ Geal, Donn, and Critheanach พี่เลี้ยงทั้งสองในตำนานเคลติกมีชื่อว่า Geal และ Donn ส่วนซินเดอเรลล่าในตำนานนั้นมีชื่อว่า Critheanach
เนื้อเรื่องย่อ (จากฉบับของแปโร)
ซินเดอเรลล่าเดิมมีชื่อว่า เอลล่า (Ella) เป็นบุตรสาวของเศรษฐีผู้มั่งมี มารดาของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก เป็นเหตุให้บิดาของเอลล่าจำใจแต่งงานใหม่กับคุณหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นหม้ายและมีลูกสาวติดมาสองคนเพราะอยากให้เอลล่ามีแม่ ไม่นานนักหลังจากนั้น เศรษฐีผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิต ทำให้ธาตุแท้ของแม่เลี้ยงปรากฏขึ้น นางกับลูกสาวใช้งานเอลล่าราวกับเป็นสาวใช้ และใช้จ่ายทรัพย์ที่เป็นของเอลล่าอย่างฟุ่มเฟือย ที่ร้ายกว่านั้น ทั้งสามยังเปลี่ยนชื่อของเอลล่า เป็น ซินเดอเรลล่า ที่แปลว่า สาวน้อยในเถ้าถ่าน เพราะพวกนางใช้งานเอลล่าจนเสื้อผ้าขาดปุปะมอมแมมไปทั้งตัวนั่นเอง
ซินเดอเรลล่ายอมทนลำบากทำงานเรื่อยมาจนกระทั่งวันหนึ่ง มีจดหมายเรียนเชิญหญิงสาวทั่วอาณาจักรให้มาที่พระราชวังเพื่อร่วมงานเต้นรำ แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ พระราชา ต้องการหาคู่ครองให้กับเจ้าชายซึ่งเป็นพระโอรสองค์เดียว จึงใช้งานเต้นรำบังหน้า เมื่อรู้ข่าว ลูกสาวทั้งสองต่างพากันดีใจที่บางทีตนอาจมีโอกาสได้เต้นรำและได้แต่งงานกับเจ้าชายก็เป็นไปได้ เช่นกันกับซินเดอเรลล่า เพราะเธอใฝ่ฝันมาตลอดเวลาว่าจะได้เต้นรำในฟลอร์ที่งดงามและเป็นอิสระจากงานบ้านอันล้นมือเหล่านี้ แต่แน่นอน เมื่อเด็กสาวขอไป แม่เลี้ยงใจร้ายจึงกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาจนซินเดอเรลล่าไม่มีชุดใส่ไปงานเต้นรำ
ซินเดอเรลล่าเสียใจมาก จึงหนีไปร้องไห้อยู่คนเดียว ทันใดนั้นนางฟ้าแม่ทูนหัวของซินเดอเรลล่าก็ปรากฏตัวขึ้นและบันดาลชุดที่สวยงามที่สุดให้ซินเดอเรลลา พร้อมกับบอกให้เด็กสาวไปงานเต้นรำ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องกลับมาก่อนเที่ยงคืน ไม่เช่นนั้นเวทมนตร์จะเสื่อมลงไปในทันที
ซินเดอเรลล่าได้ทำตามความฝัน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือ คู่เต้นรำที่เธอก็ไม่ทราบว่าเป็นใครนั้นคือเจ้าชายนั่นเอง ทั้งสองตกหลุมรักกันทั้งที่ยังไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามของอีกฝ่าย แต่เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ซินเดอเรลล่าก็รีบหนีไปโดยลืมรองเท้าแก้วเอาไว้ เจ้าชายเก็บรองเท้าไว้ได้จึงประกาศว่าจะทรงแต่งงานกับหญิงสาวที่สวมรองเท้าแก้วนี้ได้เท่านั้น
เสนาบดีได้นำรองเท้าแก้วไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อให้หญิงสาวทั่วอาณาจักรได้ลอง จนมาถึงบ้านแม่เลี้ยง เมื่อลูกสาวทั้งสองลองครบแล้ว นางก็โกหกว่าไม่มีหญิงสาวในบ้านอีก พร้อมทำลายรองเท้าแก้วจนแตกละเอียด ทุกคนต่างหมดหวังว่าจะไม่สามารถหาหญิงปริศนาของเจ้าชายพบ แต่สุดท้าย ซินเดอเรลล่าก็หยิบรองเท้าแก้วอีกข้างที่เก็บไว้ขึ้นมาและสวมให้กับเหล่าเสนาได้ดู ทำให้ซินเดอเรลล่าได้แต่งงานกับเจ้าชาย และมีความสุขตราบนานเท่านาน
(ข้อคิดในนิทาน: นารีมีรูปเป็นทรัพย์ แต่ความเมตตากรุณาเป็นสมบัติอันประมาณค่ามิได้ หากปราศจากความเมตตา ย่อมไม่มีสิ่งใดเป็นไปได้ ผู้มีความเมตตาย่อมสามารถทำได้ทุกสิ่ง)
คุณค่าและความนิยม
แม้โครงเรื่องเทพนิยายของซินเดอเรลล่าจะปรากฏในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกมาแต่เดิมในชื่อต่าง ๆ กัน แต่ฉบับที่โด่งดังที่สุดคือฉบับของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ ซินเดอเรลล่า ขึ้นด้วย ซินเดอเรลล่าได้ตีพิมพ์พร้อมกับเทพนิยายเรื่องอื่น ๆ ของแปร์โรลด์ในปี ค.ศ. 1697 หลังจากนั้นก็ได้แพร่หลายและมีการแปลไปเป็นภาษาอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะเรื่อง ซินเดอเรลล่า ถือเป็นเทพนิยายที่มีการนำไปทำซ้ำมากที่สุด นักแปลผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งคือ แองเจล่า คาร์เตอร์ ผู้ได้รับสมญาว่า “เจ้าแม่แห่งเทพนิยาย” ได้แปลผลงานของแปร์โรลด์ไว้มากมายหลายเรื่อง ซินเดอเรลล่านับเป็นผู้บุกเบิก เรื่องราวของสตรีในเทพนิยาย และพลิกแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในวรรณกรรม รวมถึง “คุณค่า” ของสตรีซึ่งต้องมีกำเนิดมาจาก “ความดีงาม” ของเธอ แม้ว่าในตอนท้าย ความสุขสบายในชีวิตของสตรียังคงต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายชายอยู่ดี (คือการได้แต่งงานกับเจ้าชาย)
ซินเดอเรลล่าในวัฒนธรรมยุคใหม่โด่งดังที่สุดด้วยฝีมือการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์การ์ตูนของ วอลท์ ดิสนีย์ ในปี ค.ศ. 1950 และได้รับยกย่องว่าเป็นฉบับดัดแปลงจากฉบับของแปร์โรลต์ที่ดีที่สุด ทำให้ภาพของนางฟ้าแม่ทูนหัว รถฟักทอง หนู และรองเท้าแก้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักในหมู่เด็ก ๆ ทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2004 ซินเดอเรลล่า ได้รับการโหวตจากเด็ก ๆ กว่า 1,200 คนจากการสำรวจโดย cinema chain UCI เป็นเทพนิยายยอดนิยมอันดับหนึ่งในดวงใจ ผลสำรวจจาก google trend เมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็พบว่า ซินเดอเรลล่า เป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต ซินเดอเรลล่า